วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทุเรียน





ทุเรียน




ประวัติของทุเรียนในสมัยอยุธยา
ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ทรงส่งคณะราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และเผยแผ่คริสต์ศาสนา รวมทั้งทำสัญญาสิทธิทางการค้า ในวาระที่คณะราชทูตฝรั่งเศสกราบถวายบังคมลากลับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะราชทูตไทยตามไปฝรั่งเศสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีด้วยเช่นกัน ตอนกลับ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งคณะราชทูตตามมาด้วยอีกคณะหนึ่ง เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยมี เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubere) นักบวชนิกายเยซูอิต เป็นหัวหน้าคณะราชทูต เพื่อมาเจรจาทำสัญญาทางด้านการค้ากับไทยอีกคราวหนึ่ง จนเป็นผลสำเร็จ เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ ซึ่งเป็นนักการทูตและนักเขียนที่มีชื่อเสียง ได้บันทึกสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้งเกษตรกรรมของเมืองไทยบางส่วน และนำไปเขียนเป็นหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยอยุธยาในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในกรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ มีขนาดความยาว ๒ เล่ม ในเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมของไทย ตอนหนึ่งได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า
" ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า "ทูลเรียน" (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไปก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่ายิ่งมีเมล็ดในน้อยยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า ๓ เมล็ดเลย จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหนและโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง และมีการปรับปรุงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอตลอดมาโดยระบบของสังคมไทย เช่น การนิยมเอาผลไม้ดีที่สุดถวายพระหรือเป็นของกำนัลเจ้านาย รวมทั้งระบบของรัฐ เช่น การเก็บอากรเกี่ยวกับต้นผลไม้ เป็นการส่งเสริมแกมบังคับให้ทุกคนต้องปรับปรุงพืชผลของตนเอง ส่งผลให้เมืองไทยมีพันธุ์ไม้ผลดีๆ หลากหลายชนิดมาจนถึงสมัยปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่างานปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลของประเทศไทยโดยชาวบ้านได้เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา และเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษสู่ชนรุ่นปัจจุบัน



ประวัติของทุเรียนในสมัยรัตนโกสินทร์
พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๘ และมีการทำสวนทุเรียนในตำบลบางกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตอนใน มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๗
ในระยะต้น เป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี ๓ พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด ผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง ๓ พันธุ์ไม่ได้ ก็ต้องใช้เมล็ดของทั้ง ๓ พันธุ์นั้นเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย เป็นผลดีต่อการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
ดังได้กล่าวข้างต้น ปัญหาที่เกษตรกรไม่สามารถหากิ่งตอนจากพันธุ์ดีได้ จึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจึงมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๗ จนกระทั่งก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นับเป็นเวลากว่า ๘๗ ปี ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ลูกผสมขึ้นมากมาย และมีการขยายพันธุ์ปลูกในที่ต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ ทำให้ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ หลายพันธุ์ในเขตจังหวัดนนทบุรีและธนบุรีสูญหายเพราะสวนล่ม แต่ก็ยังมีหลายสวนที่รอดพ้นมาได้ จึงกลายเป็นแหล่งพันธุ์ที่เหลืออยู่ แต่เนื่องจากการขยายพันธุ์ปลูกทำได้ไม่รวดเร็วพอ เกษตรกรจึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้ได้ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมเพิ่มเติมจากที่มีเหลืออยู่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขาดความรู้และหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติ ไม่สามารถทราบเชื้อสายพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ ขาดการบันทึกประวัติเป็นลายลักษณ์อักษรทางวิชาการ การตั้งชื่อพันธุ์ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ อาจใช้ชื่อของผู้ที่เพาะเมล็ด ชื่อสถานที่ หรือตำแหน่งที่ต้นพันธุ์นั้นงอกหรือเจริญเติบโต ลักษณะรูปทรงของผล สี รสชาติ ฯลฯ ที่เป็นลักษณะที่เด่นชัดเป็นตัวกำหนดในการตั้งชื่อ ประกอบกับมีการกระจายการปลูกทุเรียนไปยังภาคต่างๆ ทำให้มีการกระจายพันธุ์ไปยังแหล่งปลูกใหม่เป็นจำนวนมาก รายชื่อพันธุ์ทุเรียน ที่รวบรวมได้จากเอกสารจึงมีเป็นจำนวนมากถึง ๒๒๗ พันธุ์ ซึ่งในจำนวน ๒๒๗ พันธุ์นี้ อาจมีหลายๆพันธุ์ที่เป็นพันธุ์เดียวกัน แต่มีการกำหนดชื่อพันธุ์ขึ้นใหม่ จึงเป็นการซ้ำซ้อน สับสน และไม่สามารถใช้ประโยชน์ ในเชิงวิชาการได้เท่าที่ควร


อ้างอิง

http://guru.sanook.com/encyclopedia/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/

ไม่มีความคิดเห็น: